สาขาวิชาสังคมศึกษา จัดงานขันโตกต้อนรับนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 รหัส 61

เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 25 กุมภาพันธ์ 2562
โดย : คณะศึกษาศาสตร์
ผู้เข้าชม : 1019 คน
สาขาวิชาสังคมศึกษา จัดงานขันโตกต้อนรับนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 รหัส 61

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 สาขาวิชาสังคมศึกษา ภาควิชาหลักสูตร การสอนและการเรียนรู้ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชษฐภูมิ วรรณไพศาล หัวหน้าสาขาวิชาสังคมศึกษา และอาจารย์ชญานิตย์ ยิ้มสวัสดิ์ หัวหน้าอาจารย์นิเทศก์ ร่วมงานขันโตกต้อนรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 รหัส 61 จัดโดย นักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษาชั้นปีที่ 3 รหัส 59 เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมที่ส่งเสริมความเป็นล้านนาให้การต้อนรับน้องปี 1 ที่เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเหนือในสังคมและวัฒนธรรมล้านนา ณ สิบสองปันนาขันโตก

สำหรับ ประเพณีเลี้ยงขันโตก เป็นประเพณีของชาวเหนือที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมา การเลี้ยงแขกโดยการกินข้าวขันโตก อาจมีหลายชื่อที่เรียกขานกัน เช่น กิ๋นข้าวแลงขันโตก หรือเรียกสั้นๆ ว่า ประเพณี ขันโตก หรือสะโตก ซึ่งเป็นภาชนะที่ทำด้วยไม้นำมากลึงให้เป็นลักษณะกลมเป็นรูปถาด ถ้าเป็นขันโตกสำหรับเจ้านายฝ่ายเหนือหรือคหบดีก็ดัดแปลงให้หรูหราขึ้นตามฐานะ บ้างก็ใช้เงินทำหรือ "ทองกาไหล่" หรือไม่ก็ลงรัก ปิดทอง

ในสมัยก่อน ชาวเหนือนิยมรับประทานอาหารกับพื้น เมื่อแม่บ้านทำกับข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะยกออกมาตั้งโตก โดยในขันโตกนั้นจะมีกับข้าวพร้อม และเมื่อรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้วก็ยกไปเก็บทั้งโตก เป็นการประหยัดเวลาในการจัดและเก็บ ถือเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชาวเหนือที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาก่อนที่จะรับเอาวัฒนธรรมสมัยใหม่ ซึ่งเปลี่ยนมานั่งโต๊ะแบบชาวตะวันตก แต่การเลี้ยงขันโตกก็ยังได้ รับความนิยมและใช้เลี้ยงรับรองผู้มาเยือนอยู่เสมอๆ

จุดมุ่งหมายของการกินข้าวขันโตกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ได้มีการพัฒนามาจากสมัยก่อน โดยถือว่า นอกจากเป็นการเลี้ยงดูแขกที่มาเยือนให้ดูหรูหราสมเกียรติ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นประทับใจในการต้อนรับแล้วยังมีการประยุกต์เอาวิธีการเลี้ยงดูแขกให้มีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยการเพิ่มสีสันของการจัดงานให้ยิ่งใหญ่ดูวิจิตรพิสดาร เพียบพร้อมด้วยบรรยากาศของเมืองเหนือจริงๆ การประดับประดาเวทีด้วยดอกไม้ต้นไม้ให้ดูผสมกลมกลืนกันไป (ที่มา: เรียงร้อยเรื่องเก่าเล่าตำนาน)