คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงนามร่วมกสศ. เป็นสถาบันผลิตครูและพัฒนาครู โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีที่ 2

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 28 สิงหาคม 2563
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 1017 คน
คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงนามร่วมกสศ. เป็นสถาบันผลิตครูและพัฒนาครู  โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีที่ 2

คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. ร่วมลงนามความร่วมมือกับกสศ. เพื่อเป็นสถาบันผลิตครูและพัฒนาครู โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีที่ 2 ในโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ณ โรงแรม ที เค พาเลซ (แจ้งวัฒนะ) กรุงเทพมหานคร

-------------------------------

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. ร่วมลงนามความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (กสศ.) ในโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ สร้างครูรุ่นใหม่หัวใจรัก(ษ์)ถิ่น” ณ โรงแรม ที เค พาเลซ (แจ้งวัฒนะ) กรุงเทพมหานคร

การลงนามในครั้งนี้ เป็นการลงนามระหว่าง กสศ. และ สถาบันผลิตและพัฒนาครูทั้ง 10 สถาบัน ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  2) มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ 3) มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง 4) มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม 5) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ 6) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 7)มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 8) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 9) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ 10) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นโครงการที่ให้โอกาสในการศึกษาแก่เด็กในพื้นที่ห่างไกลที่มีความสามารถ และอยากเป็นครู อีกทั้งเป็นโครงการที่ผลิตครูเข้าไปทำงานในพื้นที่บ้านเกิด ซึ่งเป็นพื้นที่ชายขอบ ที่อยู่ห่างไกล

นพ.สุภกร กล่าวต่ออีกว่า ในด้านการลดความเหลื่อมล้ำนั้น อาจจะเห็นผลลัพธ์ในอีก 4-5 ปี โดยนักศึกษาครูในโครงการที่จบออกไปแล้ว มาทำงานเป็นครูในพื้นที่จะเป็นผู้ที่ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่บ้านเกิดของตน “โดยคาดหวังว่าคณาจารย์จะช่วยกันทำให้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของเรานั้นสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ที่ห่างไกล พื้นที่ที่ไม่มีใครอยากจะเป็นครู ให้ลดความเหลื่อมล้ำเป็นที่สำเร็จ”

ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. กล่าวว่า ทาง มช. มีความพร้อมในการเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครู ปีที่ 2 เป็นอย่างมาก เพราะทางเรามีการร่วมมือกันระหว่างคณาจารย์ในทุกภาควิชา รวมทั้งอาจารย์ที่ชำนาญการในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบ นวัตกรรมการสอน โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน และด้านอื่น ๆ มาร่วมกันทำงานในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีที่ 2 นี้  โดยในปีนี้ ทางคณะผู้ทำงานได้มีการปรับกระบวนการการทำงานจากการสะท้อนผลการดำเนินงานในช่วงปีแรกอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา กล่าวเพิ่มเติมว่า นักศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 นี้ ตนมั่นใจได้ว่าจะเป็นเด็กที่ด้อยโอกาส 100 เปอร์เซ็นต์ โดยคนที่เลือกมาทำหน้าที่ในการคัดสรรนักเรียนเข้าไปในโครงการนั้นต้องไม่ลำเอียง โปร่งใส และใช้พลังต่าง ๆ ของชุมชนในการเข้ามาตรวจสอบระบบการคัดเลือก อีกทั้งมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษาทุกคนอีกด้วย ซึ่งการคัดเลือกไม่เพียงแต่คัดเลือกตามเกณฑ์เท่านั้น ยังต้องวิเคราะห์โอกาสที่จะเรียนจบด้วย “โดยเราคิดว่าเรามีกระบวนการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งเชิงรับ และเชิงรุก อีกทั้งทางเราคิดว่าระบบการคัดเลือกของเราน่าจะเป็นต้นแบบของทุกที่ในประเทศไทยได้ด้วย”

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการประชุมเชิงวิชาการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยมีคณาจารย์และบุคลากร คณะศึกษาศาสตร์ มช. รวม 8 คน เข้าร่วมประชุมในระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม 2563 ด้วย