ความต้องการจำเป็นในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูคณิตศาสตร์: โดย รศ.ดร. ดวงหทัย กาศวิบูลย์ และคณะ

ในอีก 15 ปีข้างหน้า 40-50% ของอาชีพคนเราที่มีอยู่ในปัจจุบันจะถูกทดแทนด้วย AI และการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ดังนั้นในการก้าวเข้าสู่ยุคของAI คนที่มีความรู้ความสามารถทางคณิตศาสตร์และทักษะการคิดขั้นสูงย่อมจะมีความได้เปรียบอย่างชัดเจนในตลาดแรงงาน ซึ่งการจัดการเรียนรู้เชิงรุก เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กนักเรียนได้พัฒนาการเรียนรู้และการคิดขั้นสูง

ทั้งนี้การศึกษาความต้องการจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุกในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยการพัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้เชิงรุกคณิตศาสตร์ฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย ด้านสังคม คนไทย 4.0 โดยคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการสำรวจโดยใช้แบบสอบถามโดยวิธีการสุ่มอย่างง่ายแบบชั้นภูมิ ตัวอย่าง 99 คน จากครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 150 คน สังกัด สพม. ลำปาง ลำพูน รวมทั้งสิ้น 45 โรงเรียน โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจข้อมูลพื้นฐาน ดังภาพที่ 1


ขยายใหญ่
ภาพที่ 1 ผลการสำรวจข้อมูลตัวอย่างครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นฯ

การประเมินความต้องการจำเป็น คือกระบวนการรวบรวมข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างระดับของความสามารถที่ต้องการหรือคาดหวัง (ระดับมากที่สุดคือ 4 น้อยที่สุดคือ 1) กับระดับของความสามารถที่ปฏิบัติอยู่หรือที่ทำได้จริง (ระดับมากที่สุดคือ 4 น้อยที่สุดคือ 1) จากผลการวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ของครูด้วยค่าดัชนี PNImodified พบว่าความต้องการจำเป็นมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. กิจกรรมที่ส่งเสริมการคิดขั้นสูงของนักเรียน เช่น การคิดวิเคราะห์ เปรียบเทียบแยกแยะ ความเหมือน/ความต่างของสิ่งที่ได้เรียนรู้ 2. กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สะท้อนคิด เช่น การคิดทบทวน ตรวจสอบในสิ่งที่ได้ลงมือทำหรือเรียนรู้ว่ามีจุดเด่น/จุดด้อย และแนวทางในการพัฒนาอย่างไร 3. กิจกรรมที่ส่งเสริมความมุ่งมั่นจดจ่อของนักเรียน


ขยายใหญ่
ภาพที่ 2 ความต้องการจำเป็น 3 อันดับแรกในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกในชั้นเรียนคณิตศาสตร์

โดยการสัมภาษณ์กลุ่มเจาะลึกกับครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่มีประสบการณ์การสอนไม่ต่ำกว่า 10 ปี พบว่า ครูมองว่า “การคิดขั้นสูงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการทำให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์...ซึ่งจำเป็นมากสำหรับศตวรรษที่ 21” และครูหวังว่าจะส่งเสริมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อมีโอกาส อย่างไรก็ตามครูยอมรับว่า “ยังไม่ค่อยที่จะเน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติด้วยตนเองอย่างแท้จริง เพราะว่าส่วนใหญ่จะสอนในใบงานเป็นส่วนใหญ่...คงต้องมีกิจกรรมกลุ่มให้นักเรียนได้ฝึกคิด ได้ออกมาอภิปราย พูดถึงแนวคิดและแสดงความคิดเห็นมากขึ้น” นอกจากนี้ครูอธิบายเพิ่มเติมว่า “การสะท้อนคิดเปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดถึง สิ่งที่ได้เรียนมาแล้วว่ามีจุดดี จุดด้อยยังไง ควรพัฒนายังไง” ดังนั้น “ในการสอนแต่ละครั้งควรให้นักเรียนได้เขียน...อย่างที่ทุกทีจะทำเป็นเพียงแค่การพูด ถามตอบเฉย ๆ ก็คืออยากให้นักเรียนได้สะท้อนคิดในรูปแบบของการเขียนบ้าง...ได้สะท้อนคิด...ถึงจุดที่ดีและจุดที่ควรจะปรับปรุง” ทั้งนี้ครูยัง “ไม่สามารถที่จะให้นักเรียนทำการสะท้อนคิดได้ทุกคาบ…ยังไม่ได้ลงลึก…เพียงแค่ให้นักเรียนบอกสิ่งที่ได้เรียนรู้ในชั่วโมงนั้น ๆ” นอกจากนี้ครูยังมีความคิดเห็นในอีกประเด็นว่า
“ความมุ่งมั่นจดจ่อเป็นสิ่งสำคัญ…ที่จะทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียนคณิตศาสตร์คือ นักเรียนสมาธิในการเรียน” ดังนั้น“ครูก็ต้องมีการออกแบบการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ที่เหมาะสมกับความแตกต่างของเด็กแต่ละกลุ่ม…ถ้าครูจัดกิจกรรมได้ดีและสามารถดึงดูดความสนใจของเขา ให้เขาสามารถทำงานตามหน้าที่ให้มันสำเร็จได้” “ทำให้กิจกรรมการเรียนไม่น่าเบื่อ ไม่ได้ฟังครูอย่างเดียว ได้เกิดการแสดงความคิดเห็น ได้เกิดการสร้างสรรค์ อาจจะมีชิ้นงาน มีอะไรให้เป็นกิจกรรมกลุ่ม” “จะต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้นักเรียนไม่ได้อยู่นิ่ง คืออาจจะเป็นกิจกรรมเชิงรุก หรือกิจกรรมกลุ่ม หรือกิจกรรมเกม กิจกรรมอะไรที่ให้นักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนกับครูได้มากขึ้น ก็น่าจะทำให้นักเรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ และมีความจดจ่อกับการเรียนมากขึ้น”
จากที่ครูส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ถึงระดับที่พวกเขาคาดหวัง จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการพัฒนาแนวทางหรือโปรแกรมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกสำหรับครูคณิตศาสตร์ในปัจจุบัน