อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ เป็นผู้แทน มช. ร่วมลงนาม MOU พัฒนาสมรรถนะและวิทยฐานะครูท้องถิ่น

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 22 เมษายน 2568
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 8 คน
อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ เป็นผู้แทน มช. ร่วมลงนาม MOU พัฒนาสมรรถนะและวิทยฐานะครูท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาประเมินผลและวิจัยการศึกษา ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง "การพัฒนาสมรรถนะการปฎิบัติงาน การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะ และวิชาชีพทางการศึกษา สำหรับข้าราชการหรือพนักงานครูและบุคลากรทางการศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)" โดยมี นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี ณ โรงเรียนเทศบาลท่าโขลง 1 ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้เป็นการร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ 11 แห่ง ได้แก่:

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • มหาวิทยาลัยทักษิณ
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • มหาวิทยาลัยบูรพา
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ:

  1. ส่งเสริม สนับสนุน และบูรณาการการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการหรือพนักงานครูและบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

  2. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการพัฒนาสมรรถนะการปฏิบัติงาน การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะ และการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ

  3. ร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนาสมรรถนะการปฏิบัติงาน การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะ และการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพสำหรับข้าราชการหรือพนักงานครูและบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส เสมอภาค และเป็นธรรม

การร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศต่อไป