คณะศึกษาศาสตร์ มช. เป็นเจ้าภาพจัดค่ายวิทยาศาสตร์สานสัมพันธ์ฉันท์ วมว. ครั้งที่ 14 ภาคเหนือ

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 14 ธันวาคม 2565
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 654 คน
คณะศึกษาศาสตร์ มช. เป็นเจ้าภาพจัดค่ายวิทยาศาสตร์สานสัมพันธ์ฉันท์ วมว. ครั้งที่ 14 ภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิด ค่ายวิทยาศาสตร์สานสัมพันธ์ฉันท์ วมว. ครั้งที่ 14 ภาคเหนือ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้บริหาร อาจารย์ ผู้ดูแลนักเรียน ผู้ประสานงาน และนักเรียน จำนวน 233 คน ดังนี้          

  1. นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 58 คน         
  2. นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา จำนวน 58 คน         
  3. นักเรียนโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 59 คน         
  4. ผู้บริหารและคณะกรรมการบริหารโครงการ วมว. จำนวน  13 คน          
  5. ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 6 คน         
  6. อาจารย์/เจ้าหน้าที่โครงการ วมว.และนักศึกษาช่วยงาน จำนวน 39 คน

โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทศพร พิชัยยา รองอธิการบดี กล่าวให้การต้อนรับผู้ร่วมกิจกรรม และ รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข  คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมแอนโดรเมดา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเกียรติจากกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์สานสัมพันธ์ฉันท์ วมว. ครั้งที่ 14 ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 13 - 16 ธันวาคม 2565 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ ประสบการณ์ในการบริหารจัดการโครงการ วมว. และส่งเสริมการเรียนรู้เชิงบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการทัศนศึกษาดูงานและกิจกรรมต่างๆ ระหว่างนักเรียนโครงการ วมว. รุ่นที่ 14 อาจารย์ และผู้เกี่ยวข้องในเครือข่ายโครงการ วมว. ภาคเหนือ

ในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ มีการดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการแลกเปลี่ยน เรียนรู้เชิงบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ การบรรยายพิเศษ เรื่อง แรงบันดาลใจจากอะตอมสู่ดวงดาว , Data Logging & IoT ในระบบอัตโนมัติ , “Design Thinking” และอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง“การคิดเชิงออกแบบ ” อีกทั้งในด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการทัศนศึกษาดูงานตามแหล่งเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ กิจกรรมม่วนงันล้านนา ทัศนศึกษาน้ำพุร้อน และ เยี่ยมชมสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมนันทนาการ  เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ความสามัคคี แก่พี่น้องโครงการ วมว.