เปิดทำเนียบอาจารย์ EDU : รองศาสตราจารย์มานูนณย์ สุตีคา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับการอาชีวศึกษา

เผยแพร่เมื่อ : เสาร์ 5 กุมภาพันธ์ 2565
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 2094 คน
เปิดทำเนียบอาจารย์ EDU : รองศาสตราจารย์มานูนณย์ สุตีคา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับการอาชีวศึกษา

กลับมาพบกันอีกครั้ง กับ “เปิดทำเนียบ อาจารย์ EDU”  ในสัปดาห์นี้เราจะไปทำความรู้จัก รองศาสตราจารย์มานูนณย์  สุตีคา กันค่ะ

เราไปดูประวัติการศึกษาของอาจารย์กันก่อนนะคะ รองศาสตราจารย์มานูนณย์  สุตีคา สำเร็จการในหลักสูตรศึกษาปริญญาบัตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ศษ.ม.) สาขาวิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ครุศาสตรร์อุตสาหกรรมบัณฑิต (ค.อ.บ.) วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และ Cert. in Vocational Training JICA Japan

นอกจากนี้อาจารย์ยังได้รับใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมไฟฟ้ากำลัง (กว.) เลขทะเบียน ภฟก.2609 อีกด้วย

ในตอนแรกนั้น รองศาสตราจารย์มานูนณย์  สุตีคา ได้สอบบรรจุเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนกระทั่งปี 2523 อาจารย์ได้มีความคิดริเริ่มที่จะเปิดสาขาอุตสาหกรรมศึกษาและได้รับการอนุมัติในปี 2524 ซึ่งในเวลาต่อมาสาขาวิชานี้หายไปเมื่อปี 2556 แต่ได้กลับมารับนักศึกษาเข้าศึกษาต่ออีกครั้งในปี 2563 ที่ผ่านมา

โดยปัจจุบัน รองศาสตราจารย์มานูนณย์  สุตีคา สอนทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ดังนี้

วิชาที่สอน : ระดับปริญญาตรี

  • 079220  Thinking Skills for Learning in Industrial Ed.
  • 079272  Philosophy of Vocational Education
  • 079368  Vocational Learning in the 21st Century 
  • 079371  Creative Industry for Industrial Education
  • 079375  Electricity Electronics Technology for Industrial Education
  • 079383  Principles and Development of Modern Industrial Education Curriculum
  • 079385  Active Learning Management for Industrial Education
  • 079445  Special Lecture for Industrial Education
  • 079467  Independent Study for Industrial Education

วิชาที่สอน : ระดับบัณฑิตศึกษา

  • 056706  Development of Teaching Systems in Vocational Education
  • 056735  Innovation and Teaching in Vocational  Education
  • 056798  Independent Study (IS)
  • 056799  Thesis

นอกเหนือจากตำแหน่งด้านอาจารย์ผู้สอนแล้ว ท่านยังได้เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองคณบดีฝ่ายกิจการและพัฒนานักศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าสาขาวิชาอุตสาหกรรมศึกษา และ ประธานกรรมการร่างหลักสูตรอุตสาหกรรมศึกษา

อาจารย์ได้อธิบายถึงความแตกต่างของอาชีวศึกษาเมื่อเทียบกับวิชาอื่น ๆ คือการเน้นการปฏิบัติ หรือ learning by doing ผ่านการทำออกมาเป็นชิ้นงานที่จับต้องได้ หนังสือของอาจารย์ที่มีชื่อว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับการอาชีวศึกษา ซึ่งอาจารย์ได้อธิบายไว้ว่า "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับอาชีวะศึกษานำไปสู่การพัฒนามนุษย์เพื่อนำไปสู่อาชีพอย่างไร ซึ่งได้ออกมาเป็นผลงานวิจัยที่เป็นทัศนคติและความต้องการของนักศึกษาที่มีผลต่อการเข้าสู่เส้นทางการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ซึ่งเด็กไทยเรามองไม่ออก เนื่องจากหลักสูตรวิธีการสอนทำให้เด็กไทยไม่อยากเรียนด้านอาชีวศึกษา นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับระบบการคัดเลือกเข้ารับการศึกษาต่อด้านอาชีวศึกษาที่เด็กเก่ง ๆ จะให้ความสนใจน้อย ส่วนมากจะเป็นเด็กที่มีผลการเรียนปานกลางถึงต่ำที่จะเลือกเรียนอาชีวะ ซึ่งอันที่จริงแล้วอาชีวะต้องการผลงาน ทั้งหมดนี่จึงไม่ก่อเกิดผลงานสักเท่าไหร่"

"จากการไปศึกษาดูงาน อาจารย์จึงได้เขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับรูปแบบการจัดอาชีวศึกษาบนฐานความรู้ตามแนวคิดของญี่ปุ่น (บทความชื่อว่ารูปแบบการจัดการอาชีวศึกษาด้านช่างอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมศึกษา บนฐานแนวคิด Monozukuri ในระบบ KOSEN (The Vocational Model for Industrial Technical & Industrial Education base on Monozukuri in Kosen System) และอีกบทความคือการจัดอาชีวศึกษาของญี่ปุ่นในรูปแบบ “Vocational Center”) ซึ่งญี่ปุ่นทำมานานและทำได้ดี จนพัฒนาต่อไป เพราะการวางรากฐานที่ดีนำไปสู่การพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมีเด็กญี่ปุ่นจบไปเป็นวิศวกรอยู่มาก ทั้งหมดนี้เป็นฟันเฟืองที่สัมพันธ์กัน เมื่อมองฟันเฟืองของไทยนั้น ตัวที่มีปัญหาคือเรื่องภาพลักษณ์ เราต้องยอมรับเรื่องของการประชาสัมพันธ์ การออกสื่อภาพลักษณ์ที่ทำให้เค้าอยากมาเรียนด้านอาชีวศึกษาไม่ใช่มีแต่เรื่องทางลบอยู่เรื่อย นอกจากนี้มาตรฐานและคุณภาพต้องจริงจัง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ต้องนำมาช่วยเพราะเป็นรากฐานทางด้านการศึกษาอุตสาหกรรมที่ไปได้ตามกัน ที่สำคัญคือตัวสนับสนุนและค่าตอบแทนที่จะทำให้เขาอยู่ได้ถ้าทำ ได้แบบนี้ผลงานก็จะออกมาเองทั้งหมดนี้ได้เป็นงานวิจัยเรื่องทัศนคติและความต้องการของนักศึกษาจากการเข้าสู่เส้นทางการศึกษาด้านอาชีวศึกษาและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นงานวิจัยที่อาจารย์มานูนณย์ชอบและรู้สึกประทับใจที่ได้รู้ว่าเด็กเค้ามีความต้องการและทัศนคติอย่างไร โดยงานวิจัยนี้ทำแค่แปดจังหวัดภาคเหนือ ส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถามก็เป็นนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และวิทยาลัยเทคนิค ทั้งรัฐบาลและเอกชน ผลที่ออกมาคือเขาต้องการ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ถือเป็นฟันเฟืองแรกเลย ภาพลักษณ์ต้องสร้างออกมาก่อนหากอยากขับเคลื่อนสังคมด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ กลุ่มเหล่านี้จะเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญ" รองศาสตราจารย์มานูนณย์ กล่าวเสริม

นอกจากนี้ในงานด้านอื่น ๆ รองศาสตราจารย์มานูนณย์  สุตีคา เองก็มีประสบการณ์ในการทำานหลาย ๆ ด้าน เช่นเป็นนายกสโมสรข้าราชการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 วาระซึ่งได้ดูแลงานกิจกรรมของบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งหมด และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมฟุตบอลสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการฝ่ายกีฬาฟุตบอลสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่ งานใหญ่สำคัญ ๆ ที่อาจารย์ได้มีส่วนร่วมคือการจัดการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี และได้ดูแลรับผิดชอบนักฟุตบอลทีมชาติไทยที่มาเก็บตัวที่เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังได้เป็นเลขานุการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ

ถือว่าอาจารย์เองก็ได้ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชนกันเลยที่เดียว แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะอาจารย์ยังได้ไปไกลถึงประเทศญี่ปุ่นซึ่งก็ถือว่ามีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมประเทศหนึ่ง โดยอาจารย์ได้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารอาชีวศึกษา (Vocational Training)  ณ Vocational Center เมือง Hachioji จังหวัดโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และได้ไปศึกษาดูงานยังประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา, สาธารณรัฐประชาชนจีน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, มาเลเซีย, เวียดนาม และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงอยากจะศึกษาผลงานของอาจารย์ให้มากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจสามารถค้นหาเอกสารและตำราของอาจารย์มาอ่านเพิ่มเติมได้ ซึ่งมีดังนี้

  • การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับการอาชีวศึกษา (Human Resource Development and Vocational Education)
  • การจัดและบริหารโรงฝึกงาน (School Shop Administration and Management)
  • ไฟฟ้าอุตสาหกรรมพื้นฐาน 1 (Fundamentals of Industrial Electricity 1)
  • การวางแผนหลักสูตรอุตสาหกรรมศึกษา (Industrial Education Curriculum Planning)

มาถึงส่วนสุดท้ายหรือรางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุด รองศาสตราจารย์มานูนณย์  สุตีคา ได้ให้ความเห็นดังนี้ “รางวัลชีวิตที่ดีที่สุดอันแรกคือ การมีเพื่อนฝูงที่ดี ทุกๆงานที่เราประสบผลสำเร็จได้คือมาจากเพื่อน อันที่สองคือการที่ได้ประสบความสำเร็จในงานวิชาการคือได้ รศ.” ซึ่งเมื่อถามต่อว่าอะไรที่ทำให้อาจารย์ประสบความสำเร็จทั้งรางวัลชีวิตและรางวัลอาชีพ อาจารย์กล่าวว่า “ผมเป็นคนมีเพื่อนเยอะ ได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนในเรื่องของการทำงานจากเพื่อนๆ ทำให้เรามั่นใจ นอกจากนี้ยังต้องมีสามตัวนี้คือความตั้งใจ มีวินัย และอดทน ทำให้เรามีพลังที่จะทำงานทุกอย่าง ทำงานไม่หยุดเลยทั้งวันทั้งคืน มาแต่เช้าแล้วก็กลับมืดซึ่งก็ทำให้ผมได้เจอหลายเรื่องราวอยู่เหมือนกัน”

สำหรับคอลัมน์นี่ ผู้เขียนได้แอบไปกระซิบถามอาจารย์ถึงเคล็ดลับการดูแลตัวเองยังไงให้ดูแข็งแรงและสดชื่นเสมอ อาจารย์ก็จัดให้โดยบอกว่า “อย่าซีเรียสกับชีวิตให้มาก ทำทุกอย่างให้ดีไม่จำเป็นต้องไปคาดหวังอะไรมากมาย ทำจิตใจให้สบาย มีเพื่อนเยอะๆ สนุกกับเขา อย่าไปซีเรียสอะไรกับเขา บางทีอาจมีทะเลาะเบาะแว้งก็ไม่เป็นไร เรียกมาคุยกัน พูดกันตรงตรง ผมเล่นกีฬามาตลอดตั้งแต่เป็นรุ่นจิ๋วจนทำงานที่นี่ก็เป็นนักฟุตบอลของคณะศึกษาศาสตร์ทำให้สุขภาพดี”

อาจารย์ของเราไม่ธรรมดาเลยใช่ไหมล่ะคะ แล้วพบกันใหม่ใน {เปิดทำเนียบ อาจารย์ EDU} สัปดาห์ถัดไปค่ะ