ผู้บริหารคณะศึกษาศาสตร์ มช. เจรจาความร่วมมือด้าน STEM Education ร่วมกับ Aichi High School of Technology and Engineering

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 9 พฤษภาคม 2561
โดย : คณะศึกษาศาสตร์
ผู้เข้าชม : 346 คน
ผู้บริหารคณะศึกษาศาสตร์ มช. เจรจาความร่วมมือด้าน STEM Education ร่วมกับ Aichi High School of Technology and Engineering

ในระหว่างวันที่ 19 – 24 มีนาคม 2561 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนทรี คนเที่ยง รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.น้ำผึ้ง อินทะเนตร รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และ อาจารย์ ดร.สุทธิดา จำรัส ปฏิบัติการแทนคณบดีในงานพัฒนานวัตกรรมและศาสตร์การสอนแนวใหม่ ได้เดินทางไปที่เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเจรจาความร่วมมือด้าน STEM Education ร่วมกับคณะเดินทางจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเดินทางจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย อาจารย์ ดร.ศักดา สวาทะนันทน์ ผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมด้วยคณะเดินทางจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย นำโดย อาจารย์เกรียง ฐิติจำเริญพร รวมทั้งสิ้น 58 คน

ในการนี้ คณะเดินทางมีโอกาสได้ศึกษาดูงาน ณ Aichi High School of Technology and Engineering ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนในด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ให้แก่นักเรียนที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่น โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นกว่า 20 แห่ง อาทิ Toyota, Honda ฯลฯ เพื่อให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาสามารถทำงานในบริษัทชั้นนำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ศึกษาดูงานโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดของ Nagoya University ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Super Science High school (SSH) ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมไปถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในระดับอุดมศึกษา กระตุ้นให้เกิดความสนใจและเกิดความคิดสร้างสรรค์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา และถือเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อีกด้วย พร้อมกันนี้ คณะเดินทางได้เยี่ยมชม Bynas Company, Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิตเครื่องจักรและพัฒนาชิ้นส่วนอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีอีกด้วย

ทั้งนี้ จากการเจรจาความร่วมมือร่วมกับสถาบันการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ได้มีแนวทางการจัดกิจกรรมความร่วมมือ ที่คาดว่าจะให้มีขึ้นในอนาคต ดังนี้

  • ความร่วมมือในการออกแบบกิจกรรม/ สื่อการเรียนรู้ด้าน STEM Education ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยแบ่งกลุ่มตามความสามารถของนักเรียนที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง กิจกรรม/ สื่อการเรียนรู้จะต้องใช้ทักษะการคิดขั้นสูงในการแก้ปัญหา รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วยกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมหรือทักษะการคิดเชิงวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้น หรือกลุ่มที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับน้อย จะต้องเริ่มด้วยการสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียน STEM Education เป็นอย่างแรก โดยเน้นการทำกิจกรรมที่มีความสนุกสนาน เป็นต้น
  • ความร่วมมือในจัดโครงการ STEM High School โดยเริ่มต้นอาจจะมีห้องเรียน STEM ซึ่งคล้ายคลึงกับห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โดยอาจจะมีทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย รูปแบบหลักสูตรเน้นการเรียนการสอนด้าน STEM อาจจะแทรกกิจกรรม STEM ในสาระวิชาพื้นฐาน หรือจัด STEM เป็นสาระวิชาเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน
  • ความร่วมมือในการอบรมและพัฒนาครู/ อาจารย์ในจัดการเรียนรู้ STEM Education ได้แก่ การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ, การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น