เปิดทำเนียบอาจารย์ EDU : รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงหทัย กาศวิบูลย์ การส่งเสริมอภิปัญญา (Metacognition) ของผู้เรียน

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 19 มกราคม 2565
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 2448 คน
เปิดทำเนียบอาจารย์ EDU : รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงหทัย กาศวิบูลย์ การส่งเสริมอภิปัญญา (Metacognition) ของผู้เรียน

สุขสันต์วันปีใหม่ 2565 ทุกคนที่เข้ามาอ่านด้วยนะคะ เริ่มต้นปีใหม่แล้ว แต่เราก็ยังกลับมาพบกันอีกเช่นเคยในเปิดทำเนียบอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ สำหรับอาจารย์คนแรกของปีนี้ก็คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงหทัย กาศวิบูลย์ นั่นเอง

รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงหทัย กาศวิบูลย์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาคณิตศาสตร์ คณะศึกษาศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาโทและปริญญาเอก ทางคณิตศาสตรศึกษา จาก Oregon State University, USA และได้ทำงานวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoc) ทางด้านคณิตศาสตรศึกษาที่ University of California, Berkeley, USA

รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงหทัย กาศวิบูลย์ ได้เข้าทำงานที่คณะศึกษาศาสตร์ มช. มาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยปัจจุบัน อาจารย์ดำรงตำแหน่งประธานสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา และเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา ภาควิชา หลักสูตรการสอน และการเรียนรู้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แน่นอนว่าอาจารย์ก็มีความเชี่ยวชาญด้านการสอนวิชาคณิตศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นในระดับปริญญาตรีหรือระดับบัณฑิตศึกษา โดยได้รับหน้าที่ในการสอนอยู่หลายกระบวนวิชา เช่น การเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ การพัฒนาผู้เรียนในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ การคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์ปัญหาในชั้นเรียน การวัดและประเมินผลในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ รวมไปถึงจิตวิทยาการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เป็นต้น

เมื่อพูดถึงงานวิจัยแล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงหทัย กาศวิบูลย์ ได้ทำงานวิจัยอยู่หลายชิ้น ซึ่งอาจารย์ได้กล่าวถึงปัญหาของการเรียนคณิตศาสตร์ ไว้ว่า “ตัวคณิตศาสตร์จะมีความเป็นนามธรรมสูง ถ้าผู้เรียนไม่สามารถเข้าถึงตัวนามธรรม ก็จะรู้สึกว่าจับต้องไม่ได้ จากประสบการณ์ที่เป็นครูมา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน หรือนักศึกษา มักจะพูดว่าการเรียนคณิตศาสตร์มันช่างยากเย็น คนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก สิ่งนี้สะท้อนถึงการปิดกั้นโอกาสของผู้เรียนที่จะสามารถนำไปต่อยอดในอาชีพ ยิ่งในยุคดิจิทัลที่ผู้เรียนจะต้องมีกระบวนการการคิด ซึ่งอันที่จริงคณิตศาสตร์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตัวเลข แต่ยังมีกระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล มีการวิเคราะห์เชื่อมโยง มีการคิดขั้นสูง สิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรม เป็นกระบวนการที่จับต้องไม่ได้ แต่คนจะเห็นด้วยตาแค่เป็นเลข 123 ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไม่เข้าใจคณิตศาสตร์ มองว่าคณิตศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว ตนเองจึงมีความสนใจที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงและเข้าใจคณิตศาสตร์ที่เขาได้เรียนและเห็นประโยชน์จากมัน”

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงหทัย กาศวิบูลย์ ยังกล่าวต่อว่า “ในอดีตซึ่งเป็นยุคก่อนที่จะมีการขับเคลื่อนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เคยมีนักเรียนถามว่า {เราจะเรียนคณิตศาสตร์ไปทำไม} ซึ่งคำถามนี้เมื่อมองกลับไปในห้องเรียน แม้จะเป็นในยุคอดีต แม้แต่ในปัจจุบัน แม้จะมีกระแสว่าเราอยากขับเคลื่อนชั้นเรียนให้มีการเปลี่ยนถ่าย แต่ในห้องเรียนจริง ๆ นั้น เราก็ยังเห็นระบบการสอนแบบบอก-ระบบติวเตอร์ ที่เด็กคร่ำเคร่งอยู่กับการจำเทคนิควิธี แล้วจำไปตอบข้อสอบให้ได้แค่นั้น โดยไม่ได้ให้ความสนใจว่าเทคนิควิธีการนั้นมีความหมายหรือมีที่มาอย่างไร ยังคงเห็นร่องรอยของการให้ความสำคัญกับคำตอบปลายทาง ได้คำตอบเสร็จได้คะแนนจบ  ความพอใจอยู่แค่นั้น ไม่ได้รู้สึกภูมิใจจากการเข้าใจ ทำได้ รู้ในสิ่งที่ทำอย่างแตกฉาน แล้วสิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาไปประยุกต์ใช้ต่อยอดได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในชั้นเรียน มันจะไปของมันเองตามธรรมชาติ แต่ในเมื่อเราเริ่มที่จุดนี้ไม่ได้ แล้วเราก็พยายามที่จะเดินไปในเส้นทางนั้น แต่ก้าวแรกเรายังไม่ได้ก้าว แล้วเราจะไปถึงปลายทางนั้นได้ยังไง”

ด้วยความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงนำมาซึ่งงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ การส่งเสริมอภิปัญญา (Metacognition) ของผู้เรียนทั้งในระดับมหาวิทยาลัย (ได้รับทุนวิจัยจาก สกว.) และในระดับโรงเรียน (ได้รับทุนวิจัยจาก วช.) และจิตวิทยาการเรียนการสอนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงหทัย กาศวิบูลย์ ได้กล่าวเสริมถึง อภิปัญญา ว่า “อภิปัญญา จริง ๆ แล้วเป็นการคิดขั้นสูงตัวหนึ่ง ถ้าแปลง่าย ๆ ที่ผู้ริเริ่มได้ให้ความหมายไว้คือ Thinking about thinking การคิดเกี่ยวกับการคิด อะไรที่เราคิดไปแล้ว แต่คิดทิ้งคิดขว้าง ไม่กลับมาคิดทบทวนหรือตรวจสอบอีก อย่างนี้ไม่ใช่อภิปัญญา ถ้าเราคิดแล้วมีการกลับมารีเช็คความคิดของเรา หรือกำกับรู้การทำงานของเราเวลาคิดจะทำอะไร ถือได้ว่าเป็นการคิดอย่างรู้เนื้อรู้ตัว ถ้าเอาคำพุทธมาจับ ก็คือการใช้ความคิดอย่างมีสติสัมปชัญญะในกระบวนการเรียนต่าง ๆ มันจะทำให้ผู้เรียนได้ตระหนักรู้ถึงการรู้คิดของตนเอง ซึ่งรวมถึงการตระหนักรู้ในความรู้ของตนทั้งที่มีและไม่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านข้อเท็จจริง ความรู้ด้านกระบวนการในการทำงาน ความรู้ด้านเงื่อนไขที่จะทำให้งานสำเร็จ และรวมไปถึงการกำกับติดตามในการรู้คิดของตนเอง  ซึ่งได้แก่การคิดวางแผน การใช้กลยุทธ์ในการจัดการข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบกำกับความเข้าใจของตนขณะกำลังทำงานเพื่อจะไปให้ถึงปลายทางที่วางแผนไว้ และระหว่างนั้นหากพบข้อผิดพลาดจะมีแนวทางการแก้ไขยังไง แล้วพองานเสร็จ มีการประเมินซึ่งไม่ใช่แค่ผลของงาน แต่รวมถึงกระบวนการทำงานที่นำไปสู่ผลสำเร็จ ว่าจะมีกระบวนการทำงานที่ดีกว่านี้ไหม หรือจะมีการปรับยังไงให้มันดีขึ้น ดังนั้นหากผู้เรียนมีความรู้เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนระดับไหนก็สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้หมด ซึ่งหากคณิตศาสตร์มีสิ่งนี้ก็จะทำให้สิ่งที่มองว่าจับต้องไม่ได้ จับต้องได้มากขึ้น เข้าถึงได้มากขึ้น เพราะได้ค่อย ๆ คิดอย่างเป็นมิติ”

งานวิจัยที่อาจารย์ภาคภูมิใจที่สุด คือการได้เข้าไปอยู่ในทีมวิจัยของ Professor Alan Schoenfeld  ซึ่งท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการคณิตศาสตรศึกษา โดยเป็นผู้ที่พูดถึงอภิปัญญาในชั้นเรียนคณิตศาสตร์คนแรก ๆ ตั้งแต่ช่วง 1980 ซึ่งท่านได้วิเคราะห์ให้เห็นว่าคนที่มีอภิปัญญากับคนที่ไม่มีอภิปัญญาเป็นผู้ที่สำเร็จในการเรียนแตกต่างกันอย่างไรในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้มีส่วนร่วมในโปรเจกต์ใหญ่ (The Mathematics Assessment Project) ระหว่างอเมริกา (University of California, Berkeley และ Michigan State University) กับอังกฤษ (The University of Nottingham, UK) ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ในการตั้งกรอบแนวคิดของการพัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์เพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้ (Teaching for Robust Understanding in Mathematics: TRU Math) ซึ่งจะมีมิติของการพัฒนาผู้เรียนมิติต่าง ๆ ครอบทุกด้านโดยมีทั้งสิ้น 5 มิติเพื่อให้ผู้เรียนได้เป็นนักคิดที่ทรงพลัง (Powerful thinkers) ในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ อาจารย์อยู่ในทีมที่ได้ริเริ่มพัฒนากรอบแนวคิดดังกล่าว โดยหนึ่งใน 5 มิตินั้นอาจารย์ก็มีความชื่นชอบเป็นอย่างมาก ซึ่งก็คือมิติของการเป็นตัวแทนในการเรียนรู้ (Agency) การเป็นเจ้าของในการเรียนรู้ (Ownership)/การมีอำนาจในการเรียนรู้ (Authority) และอัตลักษณ์ในการเรียนรู้ (Identity)

“สาม-สี่ตัวนี้จะเป็นการพัฒนาผู้เรียนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ที่มากกว่าการสอนเพียงแค่เนื้อหา โดยถ้าหากบริบทของชั้นเรียนเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในบทสนทนาในชั้นเรียน ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดซึ่งกันและกัน การพัฒนาแนวคิดร่วมกัน เหล่านี้จะมีผลต่อการพัฒนาความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมยิ่งๆขึ้นไปจนกระทั่งผู้เรียนมีความรู้สึกว่าเขาเป็นตัวแทนของสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ โดยสามารถนำความรู้มาถ่ายทอด พูดบอกหรืออธิบายผู้คนได้ เหมือนเป็นเอเยนต์ (Agency) ที่ส่งต่อความรู้ การที่จะถึงจุดนั้นได้เขาจะต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้มากพอในระดับหนึ่ง และเมื่อเขาสามารถพูด บอกอธิบาย แลกเปลี่ยนในการสนทนาในชั้นเรียนได้ ก็จะนำไปสู่พัฒนาความรู้สึกว่าตนเองนั้นมีอำนาจในการเรียนรู้เนื่องจากการได้มีบทบาทในการสนทนา ถกอภิปรายในชั้นเรียนจนเกิดข้อค้นพบหรือข้อสรุปใหม่ได้ด้วยตนเอง โดยมีครูเป็นเพียงผู้ชี้แนะ ไม่ต้องรอคำตอบหรือรอให้ครูบอกอีกต่อไป  ในขณะเดียวกันเขาจะพัฒนาการเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่า เห็นสิ่งนั้นว่าเป็นของตน กล่าวคือเกิดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของในองค์ความรู้หรือข้อค้นพบนั้น เขาก็จะพยายามที่จะสร้างองค์ความรู้ต่อยอดหรือขยายความรู้นั้นให้มากขึ้น ไม่ใช่เรียนเพื่อให้ได้เกรดแล้วทิ้ง แต่เขาจะจับไม่ปล่อย ฉะนั้นถ้าเขาเจอโจทย์หรือสถาณการณ์ปัญหาที่มันท้าทาย เขาก็จะรู้สึกว่าเขาจะต้องพยายามตีประเด็นให้ออก แยกให้ได้ว่าอะไรคือองค์ความรู้ที่ซ่อนอยู่ โดยเมื่อผู้เรียนได้ค้นพบความรู้ด้วยตัวของเขาเองจากความพยายามในการแก้ปัญหาที่รู้สึกสนใจและต้องการหาคำตอบ เขาจะเกิดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของหรือ Ownership เขาจะดูแลเอาใจใส่องค์ความรู้ที่ได้มานั้นเป็นอย่างดี แล้วจะพยามต่อยอดองค์ความรู้ออกไปอีกเมื่อมีโอกาส นอกจากนี้ในจุดหนึ่งของการเรียนรู้ การเป็นตัวตนของเขาในชั้นเรียนจะค่อยๆปรากฏชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงจุดยืน ความคิดความเห็นอภิปรายนั่นคือ Identity ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่แต่ละคนจะมีคาแรคเตอร์เฉพาะตัวในการแสดงแนวคิด ถกอภิปราย และโต้แย้งมุมมองที่หลากหลาย ชั้นเรียนก็จะมีลักษณะของบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีความเป็น Active learning โดยธรรมชาติ” อาจารย์อธิบายเพิ่มเติม

สำหรับใครที่สนใจผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงหทัย กาศวิบูลย์ อาจารย์มีหนังสือแนะนำ ชื่อหนังสือว่า “การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานสำหรับครูคณิตศาสตร์” ตีพิพม์เมื่อปีพ.ศ. 2561 ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบแนวคิดของการพัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์เพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้ (TRU Math) รวมถึงงานวิจัยในเมืองไทยที่เกี่ยวข้องอยู่ในนั้นด้วย โดยหนังสือเล่มนี้ได้ถูกนำไปใช้ประกอบการสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทอีกด้วย สอบถามได้ที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU bookstore) และศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ซึ่งตัวของอาจารย์เองก็เคยได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่น สาขาวิชาคุรุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จาก สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2556 ถือเป็นกำลังใจในการทำงานของอาจารย์ในเวลาต่อ ๆ มา

คุณลักษณะที่อาจารย์คิดว่าทำให้ตนเองประสบความสำเร็จได้ คือ “คนเราจะมีเทคนิคเฉพาะตนที่จะทำให้เราเดินไปในเส้นทางที่เราเลือกอย่างประสบความสำเร็จ ถ้าเราตั้งใจทำสิ่งอะไร โดยไม่ละความพยายาม และก้าวไปโดย one step at a time ซักวันเราก็จะไปถึงยอดเขาที่เราจะไม่รู้สึกเหนื่อยว่าจะต้องวิ่งเป็นร้อยเมตรหรือพันกิโลเมตรเพื่อให้ไปถึงยอดเขาในคราวเดียว ก็ให้พัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เหนื่อยก็พักบ้าง แล้วค่อยไปต่อ ทำในสิ่งที่ตนเองตั้งใจอย่างเต็มกำลัง ถ้าเราทำเต็มที่แล้วก็ไม่มีอะไรให้เราต้องเสียใจ”

หากท่านใดมีความสนใจเกี่ยวกับงานวิจัยอื่น ๆ ของ รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงหทัย กาศวิบูลย์ สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารแนบต่อไปนี้ได้เลยค่ะ สำหรับวันนี้ผู้เขียนก็ขอลาไปก่อน สุขสันต์วันปีใหม่ขอให้ผู้อ่านสุขภาพแข็งแรง และมีความสุขมาก ๆ แล้วเจอกันฉบับหน้าค่า